สัมผัส "ปิงปอง-เจนวิทย์" ที่หนึ่งชีวโอลิมปิกโลก "Sci Celeb" แห่งปี

สัมภาษณ์เปิดใจสุดยอดคนวิทยาศาสตร์ "ปิงปอง" นักเรียน ม.ปลายจากรั้วเตรียมอุดม เจ้าของเหรียญทองชีวโอลิมปิกคะแนนอันดับหนึ่งของโลก ผู้เบียดนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหญ่ขึ้นแท่น "Sci Celeb" ในใจผู้อ่าน "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ในที่สุด "สุดยอดคนวิทยาศาสตร์" ในกิจกรรม "Sci Celeb: โหวตสุดยอดคนวิทยาศาสตร์แห่งปี" ก็ตกเป็นของ "เจนวิทย์ วงศ์บุญสิน" หรือ "ปิงปอง" เจ้าของเหรียญทองชีวโอลิมปิกคะแนนสูงสุดอันดับหนึ่งของโลกประจำปี 2550 และเป็นนักเรียนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เจเอสทีพี) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) หลังจากมีคะแนนนำโด่งมาหลายสัปดาห์ เบียดนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหญ่อย่าง ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับ ดร.ชะวะนี ทองพันชั่ง นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ลงไปอยู่อันดับ 2 และ 3 ทั้งนี้การได้เป็นผู้แทนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสาขาชีววิทยาจนทำให้นักเรียน ม.6 จากรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาโดดเด่นแซงหน้าผู้ใหญ่ไปนั้น "ปิงปอง" เผยว่าเป็นเพราะเมื่อตอน ม.4 เขาได้เข้าค่ายอบรมวิชาการของมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากลังยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) และปีถัดมาจึงสามารถสอบผ่านเข้าค่ายอบรมของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทั้งนี้ผู้แทนในสาขานี้ส่วนใหญ่จะผ่านค่ายของ สอวน.มาก่อนและน้อยที่อยู่ในชั้นต่ำกว่า ม.5

พร้อมกันนี้ปิงปองเผยว่าไทยยังส่งนักเรียนไปแข่งโอลิมปิกวิชาการไม่ครบทุกสาขา ยังมีโอลิมปิกวิชาการสายศิลป์ด้วย แต่เมืองไทยไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบและติดต่อเข้าไปแข่ง มีโอลิมปิกทางภาษาศาสตร์ที่กำหนดภาษาขึ้นมาแล้วให้สร้างภาษาเอง ต้องเป็นนักภาษาจริงๆ ดูโครงสร้างภาษาแล้ววิเคราะห์ อีกอันคือเป็นโอลิมปิกด้านปรัชญาที่กำหนดให้วิเคราะห์วรรณกรรม วรรณคดีในโลก ซึ่งกฎที่ผมดูมานั้นเขาห้ามใช้ภาษาประจำชาติในการแข่งขัน เช่น เยอรมันก็ใช้ภาษาอังกฤษในการแข่งขัน เป็นต้น "ตอนนี้เกาหลี ญี่ปุ่นไปแข่งแล้ว แต่ไทยยังไม่ไปเพราะไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ จริงๆ แล้วน่าจะหาหน่วยงานนะ หน่วยงานภาษาซึ่งอาจจะช่วยให้เด็กที่เรียนภาษากระตือรือร้นทางด้านนี้มากขึ้น เพราะโอลิมปิกก็เป็นทางหนึ่งที่กระตุ้นให้เด็กเรียนวิทย์ การแข่งขันนี้ก็อาจกระตุ้นให้เด็กเรียนสายภาษาได้รู้สึกว่าไม่ใช่งานที่ด้อยค่าหรือง่าย นอกจากนี้ยังมีโอลิมปิกทางด้านธรณีวิทยาด้วย แต่ไม่มีเป็นที่รู้จักเท่าไหร่"

No comments: